การเลี้ยงดู


การเลี้ยงลูกนกกระจอกเทศอายุแรกเกิด – 4 สัปดาห์
.....นกกระจอกเทศจะใช้เวลาฟักไข่นาน 42 วัน จึงออกเป็นตัว ซึ่งการฟักไข่ในตู้ฟักจะช่วยเหลือลูกนกกระจอกเทศให้ออกไข่ง่ายขึ้น เมื่อลูกนกกระจอกเทศออกจากไข่จะต้องอยู่ในตู้ที่เรียกว่าตู้อบประมาณ 24-48 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวแห้งและแข็งแรง หลังจากนั้นจึงนำออกมาเลี้ยงในโรงเรือนอนุบาล ลูกนกกระจอกเทศต่อไป ซึ่งในโรงเรือนอนุบาลจะต้องมีอุปกรณ์ที่สำคัญดังนี้
1.เครื่องกกลูกนกกระจอกเทศ
2.แผงล้อมลูกนกกระจอกเทศ
3.ที่ให้อาหาร
4.ที่ให้น้ำ
5.วัสดุรองพื้น ควรใช้แกลบ ฟางแห้ง ผ้า หรือกระสอบ

.....การปฏิบัติการในการเลี้ยงลูกนกกระจอกเทศอายุแรกเกิด – 4 สัปดาห์ ผู้เลี้ยงจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม และทำความสะอาดพื้นคอกบริเวณที่เลี้ยงลูกนก โดยการฆ่าเชื้อ ปูพื้นคอกด้วยแกลบหรือฟางแห้งหรือผ้ากระสอบ
....พื้นคอกถ้าเป็นพื้นซีเมนต์จะทำความสะอาดได้ง่าย แต่ต้องระวังนกลื่น ปูทับด้วยวัสดุรองพื้นพวกแกลบ ฟางแห้ง กระสอบ หรือผ้า ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนที่จะทำการกก นอกจากนี้ออุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นจะต้องสะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อด้วยยาฆ่าเชื้อโรคแล้ว

....สำหรับเครื่องกกลูกนกจะต้องตรวจสอบการทำงานให้เรียบร้อยว่าใช้งานได้ดี อุณหภูมิกกคงที่โดยตั้งไว้ที่อุณหภูมิ 35 ° C หรือ 95 ° F ในช่วง 2 วันแรก และลดอุณหภูมิลงทุกสัปดาห์จนเหลือ 21-23 ° C หรือ 69-73 ° F เมื่ออายุ 4 สัปดาห์ ไฟกกจะต้องอยู่สูงจากหัวนกขนาดลูกนกยืดคอไม่ถึง ปกติลูกนกกระจอกเทศเมื่อออกจากไข่ในระยะเวลา 2-3 วันแรก หรือ 24-36 ชั่วโมงหลังออกจากตู้อบ ไม่มีความจำเป็นที่จะให้อาหารลูกนก ช่วงนี้จะเป็นอันตรายทำให้ลูกนกตาย เพราะอาหารที่ลูกนกกินเข้าไปจะไม่ย่อย
....ดังนั้นจึงควรให้อาหารหลังจาก 2 วันแรกไปแล้ว โดยอาหารที่มีโปรตีน 20-22 % พลังงาน 2,700 กิโลแคลอรี่ แคลเซียม 1.4% ฟอสฟอรัส 0.7% เมื่อลูกนกอายุได้ประมาณ 5-7 วัน ควรจะมีหญ้าสดสับหรือหั่นฝอยเสริมให้ลูกนกกินโดยผสมปนกับอาหารข้นในอัตราส่วน อาหารข้น 5 ส่วน ต่อหญ้าสดสับ 1 ส่วน โดยน้ำหนัก และผสมด้วยกรวดขนาดเล็กหรือหินเกล็ดลงในอาหารผสมประมาณ 1.5 % โดยน้ำหนักอาหาร ซึ่งลูกนกจะใช้ในการย่อยบดอาหารในกระเพาะต่อไป หรือจะตั้งกรวดหรือหินขนาดเล็ก ไว้ให้ลูกนกกินเองก็ได้....เนื่องจากลูกนกกระจอกเทศเป็นสัตว์ชอบเล่น ดังนั้น ในภาชนะให้อาหารและน้ำจะใส่ลูกปิงปอง หรือลูกบอลที่ไม่ใช้แล้วลงไปด้วยประมาณ 2-3 ลูก เพื่อให้ลูกนกเล่นไปด้วยจิกกินอาหารและน้ำไปด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกนกกระจอกเทศกินอาหารได้มากยิ่งขึ้น
การให้น้ำแก่ลูกนกกระจอกเทศ
....ในช่วงแรกลูกนกยังไม่รู้จักภาชนะให้น้ำ การปล่อยปละละเลยไม่ฝึกลูกนกอาจจะมีผลทำให้ลูกนกไม่ได้กินน้ำและตายในที่สุด ดังนั้นผู้เลี้ยงจะต้องฝึกลูกนกโดยจับลูกนกไปที่ภาชนะที่ให้น้ำ แล้วจับปากลูกนกจุ่มน้ำ 2-3 ครั้ง ทำเช่นนี้ทุกตัว น้ำที่ให้ในระยะแรกนี้ควรเสริมวิตามินและละลายน้ำที่ใช้กับลูกไก่ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาดผสมให้ลูกนกกินด้วยก็จะดีในช่วงนี้จะต้องดูแลเอาใจใส่
เกี่ยวกับ อุณหภูมิในการ กกลูกนก ลูกนกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วควรขยายวงล้อมกกออกทุก ๆ 3-4 วัน การขยายกกออกมากหรือน้อยขึ้นกับสภาพอากาศ และควรลดอุณหภูมิในการกกลงสัปดาห์ละ 3-5 องศาฟาเรนไฮด์ โดยปกติจะใช้เวลากกลูกนกกระจอกเทศนานประมาณ 3-4 สัปดาห์ กรณีอากาศหนาวมากควรเพิ่มระยะเวลากกยาวออกไปอีก ทั้งนี้ให้สังเกตความสมบูรณ์ของลูกนกด้วย
..... 
การเลี้ยงนกกระจอกเทศในระยะ 1 สัปดาห์แรก ควรจะให้แสงสว่างในโรงเรือนตลอด ควรจะให้แสงสว่างในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อลูกนกอายุเกิน 1 สัปดาห์ไปแล้วจึงจะลดชั่วโมงการให้แสงสว่างลงเหลือ 14-15 ชั่วโมงต่อวัน เมื่ออายุ 3-4 สัปดาห์ อาจเปิดไฟเฉพาะในเวลากลางคืนก็พอ
.... 
ลูกกระจอกเทศแรกเกิดจะมีน้ำหนักประมาณ 830-1,000 กรัม ซึ่งลูกกระจอกเทศอายุ 0-4 สัปดาห์ จะโตขึ้นจากเดิม 1 ฟุต หนักประมาณ 900-2,800 กรัม อัตราการเจริญเติบโตของลูกนกกระจอกเทศจะสูงขึ้นประมาณเดือนละ 1 ฟุต จนนกนกกระจอกเทศสูงถึง 5-6 ฟุต อัตราการเจริญเติบโตจึงจะลดลงหรือหยุด
.... 
ในการเลี้ยงควรจะตรวจดูวัสดุรองพื้นคอก จะต้องไม่ชื้นแฉะหรือแข็งเป็นแผ่น ถ้ามีกลิ่นของก๊าซแอมโมเนียจะต้องรีบแก้ไขทันที โดยเปลี่ยนวัสดุรองพื้น ภายในห้องกกควรจะมิดชิดไม่มีลมโกรกเข้ามา แต่จะต้องมีการระบายอากาศออก ให้ภายในห้อง
.... 
ดังนั้นจึงควรเข้มงวดในเรื่องของการสุขาภิบาลในโรงเรือนอนุบาลให้เป็นอย่างดี ลูกนกจึงจะแข็งแรงเจริญเติบโตเร็ว
.... 
ควรสังเกตอุจจาระของนกกระจอกเทศตลอดเวลา นกกระจอกเทศที่มีสุขภาพปกติจะถ่ายอุจจาระอ่อนนุ่ม ไม่แห้งแข็งหรือเป็นเม็ดเหมือนอุจจาระแพะ ปัสสาวะของนกกระจอกเทศจะต้องเป็นน้ำใส ไม่เหนียวหรือขุ่นข้น

การเลี้ยงนกกระจอกเทศ อายุ 1-3 เดือน
....ลูกนกกระจอกเทศเมื่ออายุครบ 1 เดือน และมีสุขภาพแข็งแรงดีแล้ว ควรจะปิดเครื่องกกขยายพื้นที่ในคอกอนุบาลให้ลูกนกได้อยู่อย่างสบาย ลดชั่วโมงการให้แสงสว่างแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้นกตื่นตกใจ นกกระจอกเทศวัยนี้จะตกใจง่าย ในเวลากลางวันควรจะมีพื้นที่ปล่อยลูกนกออกเดินเล่นในลานที่มีแสงแดดรำไรในช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ ภาชนะให้น้ำและอาหารควรจะทำความสะอาดทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตรวจสอบวัสดุรองพื้นคอกทุกวัน
.... 
การให้อาหารควรให้ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง คือ ให้อาหารวันละ 3-5 ครั้ง ห่างกันประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยให้ลูกนกได้รับอาหารที่ใหม่สด ซึ่งจะต้องผสมหญ้าสดหรือผักสดผสมในอาหารข้นหรืออาจจะแยกให้อาหารข้นและเสริมให้กินผักสด หรือหญ้าสดหั่นละเอียดแยกให้กินต่างหาก
.... 
สำหรับน้ำควรจะมีให้นกกินตลอดเวลา ลูกนกวัยนี้จะตายได้ง่ายเพราะเป็นช่วงที่เจริญเติบโตเร็ว อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับขารับน้ำหนักไม่ไหว ขาของลูกนกกระจอกเทศจะแบะออก เดินขาปัด จนเดินไม่ได้ และจะตายในที่สุด จึงจำเป็นต้องควบคุมน้ำหนัก
.... 
วิธีแก้ไข ผู้เลี้ยงนกกระจอกเทศ จะต้องใช้ผ้ายืดหรือผ้าอีลาสติก สวมขาทั้ง 2 ข้างไว้ไม่ให้ขาลูกนกแบะถ่างออก พร้อมเสริมอาหารให้มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงขึ้น ขณะเดียวกันควรจะลดปริมาณอาหารลงด้วย ซึ่งการเลี้ยงระยะนี้ผู้เลี้ยงจะต้องดูแลเอาใจใส่ สังเกตสุขภาพของลูกนกกระจอกเทศทุกวัน
.... 
กรณีมีอาการผิดสังเกตให้รีบแก้ไข ซึ่งอาจจะต้องแยกลูกนกที่มีปัญหาออกมาเลี้ยงต่างหาก แต่ไม่ควรปล่อยให้ลูกนกอยู่ตัวเดียว ควรจะหาลูกนกตัวอื่นเป็นเพื่อนด้วย ไม่เช่นนั้นลูกนกจะยิ่งเครียดมากขึ้น ตามปกติเมื่อลูกนกกระจอกเทศอายุได้ 3 เดือน ควรมีน้ำหนักประมาณ 12-21 กิโลกรัม
การเลี้ยงนกกระจอกเทศ อายุ 3-24 เดือน
....นกกระจอกเทศในช่วงอายุ 0-6 เดือน จะเจริญเติบโตเร็วมากหลังจากนั้น อัตราการเจริญเติบโตจะลดลงเล็กน้อย ต้องเอาใจใส่ในเรื่องอาหารและการจัดการได้ดี อาหารไม่ควรมีพลังงานสูงมากนัก อาหารที่เหมาะสมควรจะมีโปรตีน 16% พลังงาน 2,300-2,400 กิโลแคลอรี่ พร้อมเสริมให้กินหญ้าหรือผักสดหั่นเล็ก ๆ นกกระจอกเทศจะชอบกินเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนสับละเอียดมากเป็นพิเศษ ซึ่งการให้อาหารจะให้แบบแยกอาหารข้น หรือใช้วิธีการคลุกผสมให้นกกระจอกเทศกิน อัตราส่วนผสมควรจะใช้อาหารข้น 3 ส่วนต่อหญ้าสดหั่นละเอียด 1 ส่วนโดยน้ำหนัก
.... 
ทั้งนี้อาจจะปรับเปลี่ยนอัตราส่วนได้ ขึ้นกับสภาพความสมบูรณ์ของนกกระจอกเทศ ซึ่งถ้าลูกนกอายุเกินกว่า 6 เดือน อาจจะต้องปรับส่วนผสมโดยเพิ่มพืชอาหารสัตว์ประเภทเยื่อใยให้มากขึ้น และลดปริมาณอาหารข้นให้น้อยลง โดยคำนึงถึงความต้องการของร่างกายและสุขภาพของนกกระจอกเทศ
.... 
การเลี้ยงนกในวัยนี้จะต้องให้มีพื้นที่ออกกำลังกายอย่างอิสระและเพียงพอ ไม่ควรเลี้ยงรวมเป็นฝูงใหญ่ ควรจะแบ่งออกเป็นฝูงเล็กมีจำนวนไม่เกิน 40 ตัว แต่การจัดฝูงให้เล็กประมาณ 15-20 ตัว/ฝูง จะเหมาะสมที่สุด เพราะจำทำให้ลูกนกแข็งแรงไม่แย่งอาหารกันกิน และไม่แน่นเกินไป
.... 
พื้นที่ที่เลี้ยงนกกระจอกเทศจะต้องระมัดระวังไม่ให้มีเศษวัสดุ เช่น เศษลวดผูกเหล็กก่อสร้าง ตะปู เศษถุงพลาสติก เศษแก้ว เศษผ้า ตกหล่น ในบริเวณคอกและพื้นที่เลี้ยง เพราะนกกระจอกเทศจะสนใจและจิกกินเข้าไป ซึ่งจะทำให้นกกระจอกเทศตายได้สิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการเลี้ยงนกกระจอกเทศในอายุระหว่างนี้ คือ อัตราส่วนพื้นที่ทั้งภายในโรงเรือนหรือพื้นที่ร่ม และพื้นที่อเนกประสงค์หรือพื้นที่ร่ม และพื้นที่อเนกประสงค์หรือพื้นที่โล่ง จะต้องจัดให้เพียงพอไม่คับแคบเกินไป การแออัดจะเป็นผลเสียทำให้เกิดการเสียหายได้ และพื้นที่ของภาชนะให้น้ำและอาหารจะต้องเพียงพอกับปริมาณนกกระจอกเทศที่เลี้ยง ไม่ให้มีการแย่งอาหารกันเกิดขึ้น
.... 
การเสริมหินเกล็ดหรือกรวด ในอาหารอัตรา 1.5 % โดยน้ำหนักหรือใส่ภาชนะให้นกกระจอกเทศเลือกกินเอง เมื่อนกกระจอกเทศอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไปแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องให้แสงสว่างในเวลากลางคืน แต่จะต้องระวังให้ลูกนกอยู่ในโรงเรือนที่มีหลังคาและฝาผนังมิดชิดนอนเวลากลางคืน เพื่อป้องกันอันตรายจากสภาพภูมิอากาศ เช่น ฝน ลม พายุ และสัตว์ร้ายที่เป็นศัตรูนกกระจอกเทศ อีกอย่างหนึ่งคือ สุนัขซึ่งจะทำอันตรายนกกระจอกเทศในเวลากลางคืน
.... 
สำหรับเวลากลางวันควรปล่อยให้นกอยู่ในพื้นที่โล่งกลางแจ้งอย่างอิสระสามารถเข้าออกโรงเรือนได้ภาชนะให้น้ำและอาหารควรอยู่ในโรงเรือนอันเป็น
การป้องกันฝนและแสงแดด ในกรณีที่มีพายุฝนควรจะต้อนนกกลับเข้าคอกภายในโรงเรือน ไม่ควรให้นกเล่นน้ำฝนเพราะจะทำให้เป็นหวัดหรือปอดบวมตายได้

การเลี้ยงนกกระจอกเทศพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ (อายุ 2 ปี ขึ้นไป)
....นกกระจอกเทศเมื่ออายุได้ 2 ปี จะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวซึ่งจะเจริญพันธุ์ผู้เลี้ยงควรจะทำการจัดฝูงใหม่ให้เป็นฝูงผสมพันธุ์ โดยการคัดเลือกนกกระจอกเทศที่มีลักษณะดี อัตราการเจริญเติบโตดีแข็งแรง เก็บไว้ในการขยายพันธุ์เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์
.... 
ดังนั้นการคัดเลือกนกกระจอกเทศเก็บไว้ทำพันธุ์ควรจะคัดเลือกเมื่ออายุ 1 ปี แต่การเลี้ยงดูยังคงรวมฝูงใหญ่เหมือนเดิม จนกว่าอายุได้ 2 ปี จึงคัดเลือกอีกครั้ง แบ่งฝูงเป็นฝูงผสมพันธุ์ประกอบด้วยพ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 2-3 ตัว ซึ่งนกกระจอกเทศอายุ 2 ปี จะมีน้ำหนักประมาณ 110-140 กิโลกรัม นกจะเริ่มให้ผลผลิตและผสมพันธุ์ได้โดยเพศเมียอายุ 2 ปีขึ้นไป และเพศผู้อายุ 2-5 ปีขึ้นไป และสามารถให้ผลผลิตไข่ติดต่อกันได้นานถึง 40 ปี แต่จะนิยมเลี้ยงเพียง 20-25 ปี
.... 
การที่จะให้นกมีความสมบูรณ์พันธุ์ให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ จะต้องมีการเลี้ยงดูการจัดการที่ดี อาหารสำหรับพ่อ-แม่พันธุ์ในช่วงระยะฤดูผสมพันธุ์ควรจะเพิ่มแคลเซียมและฟอสฟอรัสอีก 1-2% เพราะแม่นกจะต้องการแคลเซียมในการสร้างเปลือกไข่ อาหารควรจะให้อย่างเพียงพอ ควรให้อาหารวันละ 2-3 ครั้ง โดยจะต้องเสริมหญ้าสดด้วย พร้อมทั้งมีหินเกล็ดไว้ให้นกได้จิกกินด้วยเพื่อช่วยในการย่อยอาหารที่กระเพาะบด
.... 
ภาชนะที่ให้อาหารและน้ำจะต้องทำความสะอาดทุกวัน และมีน้ำสะอาดตั้งให้กินตลอดเวลา พื้นที่ในการเลี้ยงจะต้องกว้างขวางพอที่จะให้นก ได้ออกกำลังกายได้ ปกตินกจะเริ่มผสมพันธุ์โดยมีฤดูการผสมพันธุ์ในช่วงอากาศอบอุ่นและแห้ง โดยสีหนังของนกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง โดยเฉพาะบริเวณคอและขา แม่นกเมื่อได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะออกไข่โดยพ่อ-แม่นกจะขุดเป็นหลุมตื้น ๆ ขนาดเท่าตัวแม่นกไว้ให้วางไข่ และจะออกไข่เฉลี่ย 2-2.7 วัน/ ฟอง ตลอดฤดูผสมพันธุ์จะให้ไข่ประมาณ 30-80 ฟอง มากน้อยขึ้นกับสายพันธุ์ความสมบูรณ์ และอายุของแม่นกกระจอกเทศ โดยในปีแรกแม่นกจะให้ไข่ไม่มากนัก แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ ไป
.... 
การเก็บไข่ควรเก็บไข่ออกทุกวัน หรือทันทีที่แม่นกวางไข่ และนำไปรวบรวมไว้ ในห้องที่มีอุณหภูมิได้ประมาณ 20-24 ° C ความชื้นสัมพัทธ์ 75-80% ถ้าความชื้นสูงจะมีผลทำให้ไข่เน่าเสียได้ง่าย ในรังไข่ที่แม่นกออกไข่ควรจะต้องมีไข่ปลอมวางไว้อย่างน้อย 1 ฟอง เพื่อให้แม่นกกระจอกเทศจำรังไข่และออกไข่ที่เดิม ติดต่อไปเรื่อย ๆ ช่วงออกไข่นี้นกกระจอกเทศจะมีความดุร้ายโดยเฉพาะพ่อพันธุ์เพราะหวงไข่มาก
.... 
นอกจากนี้ คอกผสมพันธุ์ที่ดีระหว่างคอกควรจะมีรั้วห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร เพราะป้องกันอันตรายจากการจิกตีกันระหว่างพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่อยู่กันคนละคอก
..... 
การเลี้ยงดูนกกระจอกเทศในวัยระยะต่าง ๆ ที่ผู้เลี้ยงควรจะจัดทำเป็นอย่างยิ่ง คือ การจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ประกอบด้วย การให้ผลผลิต การกินอาหาร การให้ยาและวัคซีน การเริ่มต้นผสมพันธุ์ การให้ไข่ สุขภาพของนก และ ฯลฯ ที่สามารถจัดทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูหรือปรับปรุงการเลี้ยงดูให้ดีขึ้น กรณีมีปัญหาจะได้แก้ไขได้อย่างถูกต้อง การบันทึกจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรจะทำแบบฟอร์มการจัดการต่าง ๆ ออกเป็นชุด ๆ เพื่อความเป็นระเบียบในการค้นคว้าศึกษาข้อมูล และปรับปรุงการจัดการฟาร์มให้ดีขึ้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

Sample text

Sample Text

Sample Text